ประสบการณ์ทรงคุณค่าในเสถียรธรรมสถาน (ตอนที่ 1)
บีมได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม "โครงการศิลปะการพัฒนาชีวิตด้วยอาณาปานสติภาวนา" และ "จิตประภัสสรณ์ตั้งแต่นอนอยู่ในครรภ์" เมื่อวันที่ 2-4 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สั้นแต่ได้รับอริยทรัพย์อย่างมหาศาลค่ะ แม้จะยังไม่ได้เจอคุณแม่ (แม่ชีศันสนีย์) แต่คณะแม่ชีพี่เลี้ยง อาสาสมัคร และเพื่อนทางธรรมที่ได้พบปะกันที่นั่น ก็ทำให้รู้สึกว่าคุ้มค่ามากที่ครอบครัวของบีมได้เสียสละเวลาและพลังงานเพื่อมาช่วยเลี้ยงดูเจ้าตัวน้อยของบีมที่มีอายุเพียง 1 ปี 4 เดือน และบีมก็ตั้งใจเอาไว้ว่าจะต้องตั้งใจเก็บเกี่ยวอริยทรัพย์มาให้ได้ตามหลักการของสายกลางค่ะ ต้องขอบคุณจริง ๆ สำหรับความรัก ความเสียสละ ที่ชุมชนเสถียรธรรมสถานได้สร้างและคนที่มีโอกาสพึ่งได้เข้าไปและไปอยู่น้อยวันสามารถสัมผัสได้จริง ๆ ค่ะ
ความเรียบง่ายเริ่มตั้งแต่การแพ็คของ บีมมีกระเป๋า 2 ใบเท่านั้นค่ะ ด้วยความที่มีเวลาเตรียมตัวน้อย ตอนแรกตั้งใจจะใช้เป้ แต่หาซื้อไม่ทัน ก็เลยมีกระเป๋าใส่เสื้อผ้าและของใช้หนัก ๆ 1 ใบ และมีกระเป๋าย่าม (เพราะในกิจกรรมเราต้องใช้ใส่ของค่ะ เขารณรงค์ไม่ให้ใช้ถุงพลาสติกค่ะ) ใบสีเขียว ซึ่งก็เป็นของแถมตอนที่สมัครสมาชิกอีฟ โรเช่
บีมขาดของแค่ 2 อย่าง คือ ผ้าถุงสีขาว กับ พลาสติกสำหรับทำโยคะ ค่ะ แต่คิดว่าน่าจะไปหาเอาแถว ๆ นั้น ก็ตัดสินใจไปตายเอาดาบหน้า :)
ซึ่งในการแพ็คกระเป๋า ก็ทำให้ความจริงข้อหนึ่งปรากฎนะคะ ของที่เรามี ล้วนแต่หนัก ไม่ว่าจะเป็นร่างกายนี้ที่มีมวล ต้องการอาหารหล่อเลี้ยง ลำพังแบกร่างกายเรา หาอาหาร ก็หนักแล้วค่ะ แต่เรายังมีสัมภาระชีวิต เรามีหน้าที่ที่ต้องทำตามบทบาทของเรา แต่คนเราก็ชอบแบกปัญหาไว้ให้หนักเข้าไปอีก ทั้งที่ไม่จำเป็นเลยนะ และอีกอย่าง บีมนึกถึงตอนที่แพ็คกระเป๋าสำหรับครอบครัวตอนบินไปเยี่ยมบ้านพี่แม็คที่มาเลย์ ก็พบว่า ตอนนั้นเราใช้เวลามาก และต้องบรรจุของไปเยอะแยะเลยนะ คือ ชีวิตของคนหลายคนนี่มันหนักอยู่แล้วนะ เราอย่าสร้างปัญหาให้กันและกันอีกเลย ช่วยกันรักษาใจให้ดีเพื่อช่วยกันและกันไปสู่ทางพ้นทุกข์กันดีกว่า .... คนเราเกิดมาพร้อมกรรมของตัวเองมันหนักแล้วค่ะ เหมือนมีกระเป๋าอยู่ใบหนึ่งติดมาทุกคนอยู่แล้ว...มาช่วยกันดีกว่า
บีมออกจากเชียงรายในเช้าวันศุกร์ เดินทางด้วยเครื่องบิน และพอไปถึงสนามบินก็ไปทานข้าวที่ S&P เพราะเข้าใจว่าในเย็นวันนั้นน่าจะไม่ได้ทานมื้อเย็น เพราะเราต้องไปถือศีล 8 ค่ะ และก็ตรงไปที่นั่นเลยด้วยแท็กซี่
บีมแต่งตัวแบบเรียบง่ายมาก เสื้อยืด กางเกงยีนส์ ก็เราไปปฏิบัติธรรมนี่คะ ก็เอาแบบนี้แหละ
พอไปถึงก็รอลงทะเบียน แล้วก็ท่านแม่ชีอาวุโสท่านหนึ่งก็เป็นผู้อธิบายข้อตกลงในการมาปฏิบัติธรรมครั้งนี้ค่ะ เนื่องจากบีมเป็นกลุ่มแรก ก็ได้ฟังก่อนและเข้าที่พักก่อน และพวกเราจะได้รับแผ่นพับคนละแผ่น (ถ้ามาด้วยกันก็รับไป 1 แผ่นก็พอค่ะ) ในนั้นก็จะอธิบายข้อตกลงและตารางเวลาค่ะ เอาไว้ติดตัว ซึ่งบีมไม่ได้เอานาฬิกาไป และเอาไปแต่มือถือ (ซึ่งยืมของคุณแม่มาอีกทีค่ะ เป็นมือถือโนเกียธรรมดา เอาไว้ติดต่อเวลาเดินทางเท่านั้นค่ะ เผื่อฉุกเฉิน) ซึ่งบีมปิดตลอดระยะเวลาการปฏิบัติจนถึงประมาณ 16.00 น.ของวันอาทิตย์คือ ตอนลงทะเบียนออกแล้วค่ะ จึงเปิดโทรศัพท์
ตอนเข้าที่พัก บีมกับเพื่อน ๆ ที่มาปฏิบัติธรรมก็ใส่ปลอกหมอนและปูผ้าคลุมเตียงเอง ซึ่งจะเป็นเบาะสีเขียวค่ะแบบไม่หนา (ตามการถือศีล 8 งดเว้นการนอนที่นอนสบายและสูงใหญ่) และก็ที่นอนจะเป็น 2 ชั้นค่ะเหมือนของหอพักในหรือของทหารเลยค่ะ
อ้อ ลืมบอกค่ะว่า บีมไม่ได้เอากล้องถ่ายรูปไป คือ ตั้งใจจะทำชีวิตให้เรียบง่ายและปราศจากเครื่องรบกวนจิตใจมากที่สุด ในชีวิตประจำวันของเรา เราชอบที่จะถ่ายรูปและอัพเดทอะไรให้คนอื่นในทันทีใช่ไหมคะ บีมก็เลยขอพักช่วงเวลาแห่งการอัพเดท อยู่กับเวลาธรรมชาติ กลับสู่วิถีชีวิตที่ไม่มีเทคโนโลยีการสื่อสารบ้าง ซึ่งมันจะทำให้เราเกิดสัมมาสมาธิได้ง่ายค่ะ สมาธิตั้งมั่นจึงจะเกิดปัญญาเห็นธรรมได้
เพื่อน ๆ ก็เลยจะเห็นแค่ตัวหนังสือที่บีมเขียนถ่ายทอดนะคะ :)
จากการสังเกต เพื่อน ๆ ที่มาปฏิบัติธรรมจะแบ่งเป็นกลุ่มดังนี้
- มาคนเดียวและไม่สนทนากับใครเลยระหว่างปฏิบัติ
- มากับเพื่อน 1-2 คน และก็จะคุยกันเฉพาะในกลุ่ม
- มาคนเดียวแต่มาทำความรู้จักทักทายกันที่นี่และคุยกันในกลุ่ม
และแล้วบีมก็ออกไปพร้อมกับเพื่อนค่ะ สรุปบีมมีเพื่อนในกลุ่ม 3 คนค่ะ แต่ละคนน่ารักมากค่ะ และเราก็ไปเริ่มกิจกรรมโยคะกันก่อนเลย ต้องเอาแผ่นพลาสติกมาปูนอนที่สนามหญ้าตอนบ่าย 4 โมงค่ะ ร้อนหน้ามาก ๆ แต่ก็ดีค่ะ ได้นอนท่าศพ ซึ่งทำให้ผ่อนคลายมากจากการเดินทางค่ะ และก็มีครูนำโยคะค่ะ ซึ่งในขั้นตอนนี้ คุณครูก็ได้เน้นย้ำความสำคัญของลมหายใจ สอนวิธีหายใจ ให้รู้จักลมหายใจเข้าออกเบื้องต้นค่ะ ซึ่งบีมก็นำไปใช้ตลอดการภาวนาและนำไปต่อยอดให้เข้ากับอาณาปานสติที่แม่ชีท่านได้กรุณาสอนค่ะ
(ติดตามตอนต่อไปนะคะ ว่าระหว่างนี้ได้มีอะไรบ้าง และแต่ละกิจกรรมได้ก่อให้เกิดการเรียนรู้ภายในของบีมอย่างไรบ้างค่ะ ขอบคุณค่ะ)
ความคิดเห็น